ประวัติจังหวัดฉะเชิงเทรา
จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือที่นิยมเรียกกันว่า “แปดริ้ว” นั้นมาจากคำบอกเล่าต่อกันมาว่า เมืองนี้เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ในน้ำอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะปลาช่อน ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดมีชุกชุมและขนาดใหญ่เมื่อนำมาแล่เพื่อตากทำปลาแห้ง ต้องแล่ออกถึงแปดริ้ว เมืองนี้จึงเรียกว่า “แปดริ้ว” ตามขนาดของปลาช่อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเมือง สำหรับชื่อ “ฉะเชิงเทรา” ในปัจจุบันเป็นไปได้ว่าชาวเมืองสมัยโบราณอาจเรียกชื่อแม่น้ำบางประกงว่า คลองลึก หรือ คลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็น แต่ด้วยอิทธิพลเขมรจึงเรียกชื่อแม่น้ำเป็นภาษาเขมรว่า “สตึงเตรง” “ฉทึงเทรา” ซึ่งแปลว่าคลองลึก ครั้นเรียกกันนานๆ ต่อมาเสียงเลยเพี้ยนกลายเป็น”ฉะเชิงเทรา” หรือ “แซงเซา”
ข้อสันนิษฐานการตั้งเมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นใน หรือ เมืองจัตวา ในแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 – 2013) แต่สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยพระนเรศวร ที่ใช้เมืองฉะเชิงเทรา เป็นที่รวบรวมไพร่พล ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองหน้าป้องกันศัตรูเพื่อป้องกันเมืองหลวง จวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแผ่นดินใหม่ ฉะเชิงเทรา จึงมีฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่งในมณฑลปราจีนบุรี จากนั้นในปี พ.ศ.2476 มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง สู่ 3 มิภาค จึงได้เปลี่ยนจากเมืองมาเป็นจังหวัด เรียกว่า จังหวัด “ฉะเชิงเทรา”
(อ้างอิง: คู่มือท่องเที่ยว ฉะเชิงเเทรา น. 6)